ขุนช้าง ขุนแผน
เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้สันนิษฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมีผู้จดจำเล่าสืบต่อกันมา เนื่องจากเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนมีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า แต่มีการดัดแปลงเพิ่มเติมจนมีลักษณะคล้ายนิทานเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตามยิ่งขึ้น รายละเอียดในการดำเนินเรื่องยังสะท้อนภาพการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในครั้งอดีตได้อย่างชัดเจนยิ่ง
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ร่วมกับกวีแห่งราชสำนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม ตอนขุนแผนขึ้นเรือนของขุนช้างและเข้าห้องนางแก้วกิริยา และตอนนางวันทองหึงกับนางลาวทอง พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงพระราชนิพนธ์ตอนขุนช้างขอนางพิม และตอนขุนแผนพานางวันทองหนี สุนทรภู่แต่งตอนกำเนิดพลายงาม นอกจากนั้นยังมีกวีอื่นๆ ช่วยกันแต่งอีกมาก เนื่องด้วยความงดงามในการใช้ถ้อยคำของกวีเอกในครั้งนั้น วรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ยกย่องวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนว่าเป็นยอดแห่งกลอนเสภา
